แต่งรถอย่างไร? ไม่ให้ผิดกฏหมาย

การแต่งรถในปัจจุบันนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่เรามักพบเจอบ่อยบนท้องถนนกันเสียแล้ว ซึ่งการแต่งรถนั้นเป็นทั้งความชอบส่วนตัวและเรื่องจำเป็นในแง่ของการใช้งานเช่นเดียวกันครับ

การแต่งรถในปัจจุบันนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่เรามักพบเจอบ่อยบนท้องถนนกันเสียแล้ว ซึ่งการแต่งรถนั้นเป็นทั้งความชอบส่วนตัวและเรื่องจำเป็นในแง่ของการใช้งานเช่นเดียวกันครับ แต่ไม่ว่าการแต่งรถจะด้วยเจตนาใดก็ตาม สิ่งที่เราพึงนึกถึงเอาไว้ก็คือ “แต่งรถอย่างไร? ไม่ให้ผิดกฏหมาย” เพราะหากเราทำผิดกฏหมาย แน่นอนว่าปลายทางที่เราต้องพบเจอนั้นก็คือค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรนั่นเองครับ ดังนั้นวันนี้เรามาดูกันครับว่าสายแต่งทั้งหลาย จะแต่งรถอย่างไร? ไม่ให้ผิดกฏหมาย

เปลี่ยนแปลงป้ายทะเบียน

เริ่มจากข้อแรกก็คือการเปลี่ยนแปลงป้ายทะเบียน ซึ่งป้ายทะเบียนที่ออกให้โดยกรมการขนส่งทางบกนั้น หลายคนนำมาดัดแปลงด้วยการตัดต่ออัดกรอบเป็นป้ายยาว ซึ่งการกระทำกับป้ายทะเบียนเดิมให้เปลี่ยนไปจากที่เป็นอยู่ ข้อหาแรกที่เราจะต้องเจอก็คือ ข้อหาดัดแปลงสภาพป้ายทะเบียน เป็นความผิดที่เราเถียงไม่ได้เลยครับ เพราะการเปลี่ยนแปลงป้ายทะเบียนที่ถือว่าเป็นเอกสารของทางราชการ เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรสามารถเรียกปรับไม่เกิน 2,000 บาท รวมถึงการติดป้ายเอียงแบบแหงนขึ้นหรือแหงนลง มีวัสดุมาปิดทับ มองเห็นไม่ชัดเจน ก็มีโทษปรับเช่นเดียวกับการไม่ติดป้ายครับ

ยกสูงแบบ Bigfoot

สำหรับข้อนี้สายลุยที่ชอบดัดแปลงรถยนต์แบบยกสูงโดยเฉพาะสายออฟโรด ที่รถยนต์จะมีสัดส่วนความสูงมากกว่ารถเก๋งเนื่องจากสภาพการใช้งานที่ต้องบุกป่าฝ่าทางวิบาก ซึ่งหากว่าใต้ท้องรถมีความสูงไม่มากพอก็อาจทำให้การขับขี่ไม่ราบรื่น แน่นอนว่าตามกฏหมายแล้วไม่ว่ารถยนต์ของเราจะยกสูงแค่ไหนก็ตาม จะวัดจากระดับกึ่งกลางไฟหน้ากับพื้นถนนให้ไม่สูงกว่า 135 ซม. ถ้าหากว่าไฟหน้าสูงไม่เกินก็จริง แต่รถยนต์ของเราดันสูงเกินไปด้วยการดัดแปลงสภาพ ไม่ว่าจะเสริมโช้กยกตัวถัง หรือปรับแต่งรถมาแบบยกสูงแบบ Bigfoot ที่สูงมากๆ จะต้องมีหนังสือจากวิศวกรรองรับการดัดแปลงสภาพและต้องแจ้งกับกรมการขนส่งทางบกว่ามีการดัดแปลงเพื่อใช้งานในเขตทุรกันดาร แต่หากรถสูงไม่มากแต่ใส่ยางขนาดใหญ่จนล้นออกมาข้าง ก็ต้องใช้หลักดุลพินิจอีกเช่นกันครับว่าเสี่ยงต่อผู้ร่วมใช้ถนนหรือไม่

โหลดเตี้ยแบบรถแข่ง

การดัดแปลงอีกแบบที่เป็นที่นิยมมากก็การโหลดเตี้ย ซึ่งหลายคนมักเข้าใจว่ารถที่เตี้ยจะยึดเกาะถนนได้ดี แต่ความจริงแล้วการยึดเกาะที่ดีของรถยนต์จะเกิดจากช่วงล่างที่สมบูรณ์และยางที่ใหม่ สภาพดี ซึ่งรถที่โหลดเตี้ยนั้นตามกฏหมายระบุไว้ชัดเจนว่า รถยนต์ที่โหลดเตี้ยจะต่ำแค่ไหนก็ได้ โดยยึดหลักเพียงการวัดระยะกึ่งกลางไฟหน้ากับระดับพื้นถนนต้องไม่ต่ำกว่า 40 ซม. ถ้าต่ำกว่านี้ก็จะถือว่าผิดกฏหมายทันที แต่หากไฟหน้าสูงกว่าแต่รถยนต์ใส่สปอยเลอร์ต่ำเกือบถึงพื้นก็ต้องพินิจพิจารณาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนายช่างตรวจสภาพกรมการขนส่งทางบก และผู้วินิจฉัยผล ตรอ. ว่าเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่นหรือไม่

ฝากระโปรงดำ หลังคาคาร์บอนไฟเบอร์

ส่วนใหญ่แล้วนักแข่งรถที่เราเห็นในสนามนั้นมักจะชอบเปลี่ยนฝากระโปรงมาใช้เป็นคาร์บอนไฟเบอร์เพราะมีน้ำหนักเบา แต่สวยหรูดูดี ยิ่งพ่นสีเดียวกับรถก็ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าเปลี่ยนสีเป็นสีอื่นที่ไม่ตรงกับสีเดิมของรถยนต์ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถพิจารณาตามกฎหมายได้ว่ารถยนต์ที่จดทะเบียนมีการระบุสีตัวรถชัดเจนไม่รวมสีกันชนรถ จะต้องมีสีอื่นไม่เกินครึ่งหนึ่งของสีหลักที่จดทะเบียนเอาไว้ หากเจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วเกินครึ่ง บวกกับเจ้าของรถยนต์ไม่ได้มีการแจ้งเปลี่ยนสีก็จะผิดกฏหมายทันทีครับ

ไฟหลากสี

ข้อสุดท้ายนี้เรามักเจอกันบ่อยเลยครับสำหรับการดัดแปลงแต่งไฟหน้าและไฟท้ายรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นไฟขาว ไฟแนวซิ่ง โคมดำ โคมขาว หรือแม้แต่การพ่นไฟโคมไฟหน้า – หลัง ซึ่งยังไม่มีกฏหมายรองรับ สามารถทำได้ แต่ถ้าหากว่าเข้าเครื่องทดสอบโคมไฟเมื่อไร ลำแสงจะต้องตกเป็นแนวระนาบไม่น้อยกว่า 2 องศา ไม่เบนขวาจึงจะผ่าน ส่วนสีโคมไฟหน้าก็จะต้องเป็นสีเหลืองอ่อนและสีขาว ไฟเบรกต้องเป็นสีแดง ไฟเลี้ยวต้องเป็นสีเหลืองอำพัน และไฟส่องป้ายทะเบียนต้องเป็นสีขาวมองเห็นป้ายทะเบียนได้ไม่น้อยกว่า 20 เมตร หากนอกเหนือจากนี้ก็คือผิดกฏหมายครับ

เบื้องต้นนี้ก็ได้รู้กันแล้วว่าหากสายแต่งรถทั้งหลายอยากแต่งรถโดยไม่อยากเสี่ยงต้องเสียค่าปรับให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องทำอย่างไร แน่นอนว่าการแต่งรถนั้นก็ถือว่าเป็นความชอบส่วนตัวที่เราห้ามกันไม่ได้ แต่เราก็สามารถกำหนดขอบเขตความถูกต้องได้นะครับ ไม่ผิดทั้งกฏหมายอีกทั้งยังไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองและเพื่อนร่วมทางด้วยครับ

ดูรุ่นรถอีซูซุ คลิก
ดูโปรโมชันล่าสุด
คลิก

 

…………………………………………………..

ที่มา : Thairath, Money Guru, Thai Car Lover

 

 

ISUZUอีซูซุอีซูซุพระนครแต่งรถอย่างไร? ไม่ให้ผิดกฏหมาย
Comments (0)
Add Comment